วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ เสี่ยง "หลอดลมอักเสบ"


โรคหลอดลมอักเสบเป็นอย่างไร
โรคหลอดลมอักเสบ (bronchitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ซึ่งเป็นท่อที่นำลม หรืออากาศที่หายใจเข้าสู่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม มีเสมหะในหลอดลม ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอ มีเสมหะ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก อาจหายใจมีเสียงดังหวีดได้ อาจมีอาการเจ็บคอ แสบคอ หรือเจ็บหน้าอกได้ ผู้ป่วยอาจมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อ ครั่นตัวได้ ซึ่งควรวินิจฉัยแยกโรคจากโรคปอดบวม (pneumonia) ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีไข้  ไอ และหอบเหนื่อย

โรคหลอดลมอักเสบเกิดจากสาเหตุใด
  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน (acute bronchitis) (มีอาการไม่เกิน 3 สัปดาห์) ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยหลอดลมอักเสบเฉียบพลันเกิดจากเชื้อไวรัส เหมือนไข้หวัด [เช่น rhinovirus, adenovirus, corona virus, influenza virus, parainfluenza virus, respiratory syncytial virus (RSV)]  มีเพียงร้อยละ 10 ที่เกิดจากเชื้อ Bordetella pertussisChlamydia pneumoniaeMycoplasma pneumoniae  ส่วนใหญ่มักเป็นตามหลังไข้หวัด ซึ่งไม่ได้รับการรักษา หรือปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง  ทำให้การติดเชื้อลามลงไปถึงหลอดลม  ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นหวัด แล้วมีอาการไอ มีเสมหะเป็นระยะเวลามากกว่า 1 สัปดาห์ อาจเป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน เมื่อผู้ป่วยมีการอักเสบของโพรงจมูก หรือเป็นหวัด  ควรให้การรักษา หรือปฏิบัติตนให้ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นหลอดลมอักเสบ

  1. โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง (chronic bronchitis) (มีอาการเกิน 3 สัปดาห์) อาจเกิดจากโรคภูมิแพ้ [โรคหืด (asthma)] หรือเกิดจากการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน [อยู่ในกลุ่มของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease: COPD) คือมีอาการไอมีเสมหะมากกว่า 3 เดือน/ ปี เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี] หรือสัมผัสกับมลภาวะ (air pollution) หรือสารระคายเคืองจากการประกอบอาชีพ (occupational irritants) เช่นฝุ่น, ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง นี้ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้แก่ Streptococcus pneumoniaeHemophilus influenzaeMoraxella catarrhalis ซึ่งอาจทำให้เสมหะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หรือเขียว 

อาการที่ผู้ป่วยต้องรีบไปพบแพทย์ คือ 
  • มีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์
  • มีอาการไอเป็นเลือดร่วมด้วย
  • มีอาการที่สงสัยว่า อาจเป็นปอดอักเสบร่วมด้วย เช่น มีไข้ ไอ และหอบเหนื่อย
  • มีอาการไอมาก จนรบกวนการรับประทานอาหาร หรือการนอนหลับ 
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยสูงอายุ การไอมากๆ อาจทำให้กระดูกอ่อนซี่โครงหักได้ (rib fracture)  มีอาการเจ็บหน้าอก เวลาไอ, หายใจ หรือ มีการเคลื่อนไหวทรวงอก หรืออาจทำให้ถุงลม หรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก ออกสู่โพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax or hemothorax) เกิดอาการหอบเหนื่อยทันที หลังๆการไอ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

การวินิจฉัยโรคทำอย่างไร
ทำได้โดย แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย โดยใช้ที่ฟังปอด ฟังหลอดลม ว่ามีการตีบแคบของหลอดลมหรือไม่ และให้การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่นๆ ที่ทำให้มีอาการไอ การที่เสมหะมีสีขาว หรือเขียว ไม่ได้ช่วยแยกว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย
การส่งตรวจภาพรังสีทรวงอก (chest X-ray) อาจช่วยวินิจฉัยแยกโรคปอดอักเสบได้  เนื่องจากอาการไอ อาจเป็นอาการเดียวของโรคปอดอักเสบในผู้สูงอายุ ที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ นอกจากนั้นผู้สูงอายุที่เป็นโรคปอดอักเสบ อาจมีอาการที่ไม่จำเพาะได้ เช่น เบื่ออาหาร, ล้มง่าย, ทรงตัวไม่อยู่, ซึม, ปัสสาวะราด ผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการไอมาก หรือมีอาการที่ไม่จำเพาะดังกล่าว ควรได้รับการส่งตรวจภาพรังสีทรวงอกทุกราย

การรักษา
โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน มักจะหายได้เอง ภายใน 7-10 วัน  ถ้าปฏิบัติตนถูกต้อง (ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ การรับประทานยาต้านจุลชีพในผู้สูงอายุโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยา, มีปฏิกิริยาระหว่างยาต้านจุลชีพ และยาที่ผู้สูงอายุรับประทานประจำได้, เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ) เช่น
  1. พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เพราะน้ำเป็นยาละลายเสมหะที่ดีที่สุด
  2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่   หลีกเลี่ยง ควัน, กลิ่นฉุน, ควันบุหรี่, สารเคมี, ฝุ่น,  สารระคายเคืองต่างๆ ซึ่งจะทำให้การอักเสบในหลอดลมเป็นมากขึ้น
  3. ควรพยายามหลีกเลี่ยงอากาศเย็น และแห้ง ซึ่งจะทำให้ไอมากขึ้น โดยเฉพาะแอร์  พัดลมเป่า   การดื่มหรืออาบน้ำเย็น ถ้าต้องการเปิดแอร์  ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส  ในกรณีที่ใช้พัดลมไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด และควรให้พัดลมส่ายไปมา
  4. ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมโดยตรง เนื่องจากอากาศที่เย็นสามารถทำให้ร่างกายอ่อนแอ มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง และยังสามารถกระตุ้นเยื่อบุหลอดลม  ทำให้เยื่อบุหลอดลมอักเสบมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการไอมากขึ้นได้
  5. ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายขณะนอนให้เพียงพอ เช่น นอนห่มผ้า ถ้าจะให้ดี ควรใส่ถุงเท้า หมวก หรือผ้าพันคอ เวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบห่มผ้า หรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัว ควรใส่เสื้อหนาๆ หรือใส่เสื้อ 2 ชั้น และกางเกงขายาวเข้านอน 
  6. ควรหาสาเหตุที่ทำให้เป็นหลอดลมอักเสบด้วย เนื่องจาก ถ้าผู้ป่วยยังมีภูมิต้านทานต่อโรคดี ผู้ป่วยมักจะไม่เป็นหลอดลมอักเสบ เมื่อใดเป็นหลอดลมอักเสบ แสดงว่าร่างกายมีภูมิต้านทานต่อโรคต่ำ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ภูมิต้านทานน้อยลงได้แก่ เครียด นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าจ่อ ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้ การหาสาเหตุเหล่านี้มีความสำคัญ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้หาและไม่หลีกเลี่ยง นอกจากจะทำให้หายช้าแล้ว อาจทำให้เป็นหลอดลมอักเสบซ้ำได้อีก 
  7. รักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ อาจรับประทานยาลดไข้ [paracetamol หรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)], ถ้ามีอาการไอมาก จนรบกวนการนอน หรือเป็นที่น่ารำคาญ อาจรับประทานยาลดหรือระงับอาการไอ (cough suppressants or antitussives เช่น dextromethorphan, codeine) หรือยาขยายหลอดลม (bronchodilator) ถ้ามีเสมหะมาก อาจรับประทานยาขับเสมหะ (expectorants) หรือ ยาละลายเสมหะ (mucolytics)

การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ (antibiotic) เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ  ถ้าหลอดลมอักเสบเฉียบพลันนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งควรสงสัย ถ้าผู้ป่วยยังคงมีอาการไอ และไม่ดีขึ้นภายใน 14 วัน หรือผู้ป่วยมีโรคปอดเรื้อรังอยู่ก่อน) นอกจากนั้นถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อ Bordetella pertussis (ทำให้เกิดโรคไอกรน) (เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ผู้ป่วยที่อาการไอเกิดขึ้นติดกันเป็นชุดๆ หรือ ในช่วงสุดท้ายของการไอ มีเสียงดังวู๊ป หรือวู้) ก็ควรให้ยาต้านจุลชีกลุ่ม macrolides เพื่อลดการแพร่ระบาด หรือผู้ป่วยสูงอายุ (เช่นมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) ที่มีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคปอดอักเสบ ก็ควรให้ยาต้านจุลชีพ
ยาต้านจุลชีพที่แพทย์ควรเลือกใช้เป็นอันดับแรก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้แพ้ยา penicillin คือ amoxicillin   แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยา penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยาในกลุ่ม macrolides เช่น clarithromycin, azithromycin, midecamycin ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาต้านจุลชีพกลุ่มแรก ถ้าผู้ป่วยไม่ได้แพ้ยา penicillin อาจพิจารณาให้ ยาต้านจุลชีพกลุ่มที่สอง เช่น amoxicillin/clavulanate, cefuroxime, cefprozil, cefpodoxime proxetil, cefdinir หรือ cefditoren pivoxil   ถ้าผู้ป่วยแพ้ยา penicillin อาจพิจารณาเลือกใช้ยาในกลุ่ม fluoroquinolones   ซึ่งควรรับประทานยาต้านจุลชีพ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 7 – 10 วัน
โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหาสาเหตุ และรักษาตามสาเหตุ  อาจให้ยาลดการอักเสบของหลอดลม (inhaled corticosteroids or short-course systemic steroids), ยาขยายหลอดลม [inhaled β-adrenergic agonists (เช่น salbutamol), inhaled anticholinergics (เช่น ipratropium bromide) or oral bronchodilator] และหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม

วิธีป้องกัน
โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลัน ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำลง (ได้แก่ เครียด,นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, สัมผัสอากาศที่เย็นมากๆ เช่น ขณะนอนเปิดแอร์ หรือพัดลมเป่าจ่อ, ตากฝน หรือมีคนรอบข้างที่ไม่สบายคอยแพร่เชื้อให้) และหมั่นออกกำลังกายแบบแอโรบิก (การออกกำลังกายที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้นต่อเนื่องกัน เช่น วิ่ง, เดินเร็ว, ขึ้นลงบันได, ว่ายน้ำ, ขี่จักรยานแบบปรับน้ำหนักความฝืดได้, เตะฟุตบอล, เล่นเทนนิส, แบดมินตัน หรือบาสเกตบอล) อย่างน้อยวันละ 30 นาที  อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน
โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยง ควัน กลิ่นฉุน ควันบุหรี่ สารเคมี ฝุ่น สารระคายเคืองต่างๆ

ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าให้การรักษาไม่ถูกต้อง การติดเชื้อจากหลอดลมอาจลามไปที่ปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ (pneumonia)ได้ หรือจากหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน อาจกลายเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพองได้

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2561

แพทย์เตือน ระวัง! ป่วยโรค "ตาแดง" ช่วงฝนตก


กรมควบคุมโรคเตือนประชาชนระวังป่วยโรคตาแดงช่วงฝนตก เกือบครึ่งพบในช่วงฤดูฝน โรคนี้สามารถหายได้เองใน 2 สัปดาห์ ป้องกันได้โดยล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ไม่ขยี้ตา หากมีอาการตาแดงและมีปัญหาตาพร่ามัว ให้รีบพบจักษุแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูฝน โรคที่เกิดจากน้ำสกปรก น้ำขัง จะสามารถติดต่อกันและแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคตาแดง สถานการณ์โรคตาแดงของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 11 มิถุนายน 2561 พบผู้ป่วยจำนวน 41,486 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 45 – 54 ปี พบผู้ป่วยมากที่สุด ข้อมูลปี 2560 ช่วงหน้าฝน (พ.ค.– ต.ค.) มีผู้ป่วยจำนวน 50,642 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.8 ของผู้ป่วยทั้งปี และยังคงเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่พบป่วยมากที่สุด 

ตาแดง ติดต่อกันได้อย่างไร?       

ผู้ป่วยส่วนใหญ่นั้นรับเชื้อจากผู้ป่วยผ่านทางการสัมผัสกับน้ำตา และสารคัดหลั่งจากดวงตาของผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น ทั้งนี้ อาจเกิดจากการระคายเคืองที่ดวงตา จากการขยี้ตา หรือถูกน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา เป็นต้น

อาการของโรคตาแดง         

อาการของโรคนี้ พบหลังจากที่มือหรือวัตถุที่มีเชื้อโรคมาสัมผัสตาโดยตรง ประมาณ 1-2 วัน จะเริ่มมีอาการเยื่อบุตาที่คลุมภายในหนังตาและคลุมตาขาวเกิดการอักเสบ บวม เคืองตามาก น้ำตาไหล  เจ็บตา มักจะมีขี้ตามากร่วมด้วย อาจเป็นเมือกใสหรือมีสีเหลืองอ่อน เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรียมาพร้อมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่ง ยกเว้นจะติดเชื้อพร้อมๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามอีกข้างมักจะติดเชื้อด้วยเนื่องจากไม่ได้ระมัดระวัง การติดเชื้อมักมีอาการมากในช่วง 4 -7 วันแรก แต่จะหายได้เองในเวลาประมาณ 7-14 วัน ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนการรักษานั้นจะเน้นรักษาตามลักษณะอาการของโรค และจำกัดการแพร่เชื้อจนอาการหายดี เนื่องจากยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ดังนั้นหากรู้สึกมีอาการเคืองตา มีขี้ตามากกว่าปกติให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด   


การป้องกันโรคตาแดง     

การป้องกันโรคตาแดง คือ หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ ก่อนเอามือสัมผัสหรือขยี้ตา ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับคนที่เป็นตาแดง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ล้างมือหลังสัมผัสผู้ป่วย ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย ไม่ใช้มือแคะ แกะ เกาหน้าตา ถ้ามีฝุ่นละออง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าปล่อยให้แมลงหวี่ หรือแมลงวันตอมตา นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดหน้า ให้สะอาดอยู่เสมอ ไม่ใช้สิ่งของเหล่านี้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคตาแดง โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรค เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้า เรือนจำ หรือ สถานีขนส่งมวลชน เป็นต้น ผู้ป่วยโรคตาแดงสิ่งสำคัญที่สุดคือ ควรพบแพทย์ หยุดเรียน หรือหยุดงานรักษาตัวอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 3 วัน พักผ่อนให้เต็มที่ พักการใช้สายตา และล้างมือให้สะอาดหลังจับบริเวณใบหน้าและตาทุกครั้ง ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ที่มา:sanook

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2561

อาการ “บวม” บอกโรค บวมตรงไหน เป็นโรคอะไร?


หากมีอาการปวดบวมที่บริเวณอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง มักเป็นอาการเด่นของการอักเสบ ฟกช้ำ หรืออาจจะกระดูกภายในหัก แต่หากคุณแน่ใจว่าอวัยวะส่วนนั้นไม่ได้รับการกระทบกระเทือนอะไร ไม่ได้บวมจากการอักเสบ ขอให้ลองสันนิษฐานเพิ่มอีกนิดว่า อาจเป็นสัญญาณบอกโรคร้ายอะไรบางอย่าง

ท้องบวม

ตำแหน่งของท้องค่อนข้างกว้าง แต่ถ้าท้องบวมอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นอาการท้องมาน ที่เป็นอาการข้างเคียงของโรคตับแข็ง นอกจากนี้หากส่วนใดส่วนหนึ่งของท้องบวมแล้วคลำเจอเป็นก้อน อาจเป็นเนื้องอก ซีสต์ หรือก้อนมะเร็ง (ในกรณีที่มีอาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลดลง ร่างกายทรุดโทรม หรือปวดบริเวณดังกล่าวด้วย)

ขาบวม

หากเป็นอาการขาบวมข้างเดียว อาจสันนิษฐานได้ว่ามีอาการหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน อันตรายต้องพบแพทย์

เท้าบวม

นอกจากน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน หรือหญิงตั้งครรภ์ ที่ทำให้เท้าใช้งานหนักจนเท้าบวมแล้ว ยังอาจเป็นผลข้างเคยของโรคไต โรคตับ โรคหัวใจรูมาติค หรือโรคขาดอาหารได้

คอบวม

คอบวมเป็นอาการของหลายโรค ทั้งโรคที่เกี่ยวกับไทรอยด์ คางทูม ต่อมน้ำเหลืองโต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรืออาจมีก้อนเนื้อ หรือซีสต์ในลำคอได้ หากมีอาการบวมมากจนเริ่มกลืนอาหารลำบาก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

หน้าบวม

นอกจากคางทูมที่อาจทำให้ดูหน้าบวมขึ้นแล้ว อาจเป็นอาการของการแพ้ยาอย่างรุนแรง หรือแพ้อาหารบางชนิด แต่หากหน้าบวมขึ้นเพียงเล็กน้อย อาจเพราะทานโซเดียม (เกลือ) มากเกินไป หรืออ้วนขึ้นก็ได้
นอกจากนี้ หากมีอาการบวมตามบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาบางชนิด บวมจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยอาจไม่รู้ตัว บวมจากการติดเชื้อ บวมจากน้ำในร่างกายเกิน โดยส่วนใหญ่แล้วบริเวณที่บวม เมื่อกดจะบุ๋มลง หากไม่บุ๋มเลยอาจเป็นอาการอุดตันของทางเดินน้ำเหลือง แม้จะพบได้น้อยแต่หากไม่แน่ใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดค่ะ
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เนื้องอกไขมัน คืออะไร? อันตรายหรือไม่?


จำได้ว่าช่วงปีแรกที่ทำงาน เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ เป็นช่วงที่สนุกกับชีวิตมาก ทำงานเหนื่อย แต่ก็รู้สึกได้ถึงชีวิตที่อิสระ ก็เลยกินเพลินไปนิดจนน้ำหนักขึ้น ตอนหลังสังเกตเห็นก้อนปูดๆ ด้านหลังเหนือเอวข้างขวา ปูดออกมาเหมือน “ปีก” เวลาใส่ชุดชั้นในมันปูดออกมาจนลูบๆ ดูแล้วรู้สึกว่าไม่ปกติ แต่ก็ยังคิดว่าเป็นเพราะอ้วน (ฮา) จนกระทั่งผ่านไปอีกสักพัก รู้สึกว่าก้อนมันใหญ่ขึ้น เลยต้องไปหาหมอ เลยพบว่าตัวเองเป็น “เนื้องอกไขมัน”

เนื้องอกไขมัน คืออะไร?
ก้อนเนื้อไขมัน คือภาษาอังกฤษเรียกว่า Lipoma หรือ Fatty Tumor เป็นก้อนไขมันที่นูนอยู่ชั้นใต้ผิวหนัง กดแล้วรู้สึกหยุ่นๆ ไม่เจ็บปวด เป็นเนื้องอกของเนื้อเยื่ออ่อนที่มีขนาดตั้งแต่เล็กกว่า 2 นิ้ว ไปจนถึง 8 นิ้ว (แต่ส่วนใหญ่จะพบขนาดเล็กๆ ไม่ใหญ่มาก) โดยเจ้าเนื้องอกไขมันนี้จะค่อยๆ โตขึ้นอย่างช้าๆ นานนับเดือน หรือปี

เนื้องอกไขมัน เกิดจากสาเหตุใด?
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของเนื้องอกไขมัน มีแต่การสันนิษฐานว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่เนื้องอกไขมันเป็นกลไกการตอบสนองของบริเวณที่มีการบาดเจ็บ หรืออาจถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม หรือเกิดขึ้นในคนที่น้ำหนักขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการยืนยัน 100%

ใครที่เสี่ยงพบเนื้องอกไขมันบ้าง?
เนื่องจากยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่พบ จึงกำหนดปัจจัยเสี่ยงได้ยาก แต่มักพบในผู้ใหญ่วัย 40-60 ปี มากกว่าวัยอื่นๆ (แต่ก็สามารถพบได้ในทุกวัย) พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง และอาจพบได้หลายก้อนในคนเดียว

เนื้องอกไขมัน พบได้ในส่วนใดของร่างกายบ้าง
เนื้องอกไขมันพบได้ในบริเวณทั่วไปของร่างกาย แต่มักพบที่หลังส่วนบน ไหล่ แขน รักแร้ ก้น และต้นขา

เนื้องอกไขมัน อันตรายหรือไม่?
เนื้องอกไขมันส่วนใหญ่ไม่เจ็บปวด ไม่เป็นอันตราย เพียงแต่ต้องรีบรักษาก่อนที่ก้อนจะขยายใหญ่ไปมากกว่าเดิม หรือป้องกันก้อนเนื้อไปเบียด หรือทับอวัยวะอื่นๆ

เนื้องอกไขมัน มีวิธีรักษาอย่างไร?
หากพบเนื้องอกไขมัน แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อออก หรือฉีดสเตียรอยด์เพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อ(แต่ก้อนเนื้อยังอยู่) หรืออาจใช้วิธีดูดไขมันแบบไลโปซักชั่น (Liposuction)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัวของเรา แพทย์บอกว่ามีโอกาสที่จะมีเนื้องอกไขมันซ้ำที่เดิม หรือไปงอกตามส่วนอื่นของร่างกายได้อีกในอนาคต แต่ก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน ถ้าพบเนื้องอกอีกให้รีบไปพบแพทย์ก่อนที่ก้อนเนื้องอกจะขยายใหญ่ขึ้น เพื่อทำการรักษาได้ง่ายขึ้นค่ะ
ที่มา:sanook

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2561

9 สัญญาณบอกโรคจาก “ประจำเดือน” ผิดปกติ


โรคที่เกี่ยวกับมดลูก หรืออวัยวะภายในของผู้หญิง สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยมาผ่านประจำเดือนได้นะคะ เพราะฉะนั้นในแต่ละเดือน ลองสังเกตประจำเดือนของตัวเองไว้ให้ดี เพราะหากมีความผิดปกติตามนี้เมื่อไร ให้รีบพบคุณหมอด่วน

สัญญาณบอกโรคจาก “ประจำเดือน” ผิดปกติ
1. ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เลื่อนตลอด
หากมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะเรื้อรัง การมองเห็นไม่ชัดเจน และมีหนวด หรือขนขึ้นดกกว่าเดิม
อาจกำลังเสี่ยง : เนื้องอกในรังไข่ หรือมีความผิดปกติของต่อมหมวกไต หรือต่อมใต้สมอง

2. ประจำเดือนมามากผิดปกติ
หากมาพร้อมกับอาการปวดท้องประจำเดือนร่วมด้วย หรือรู้สึกปวดท้องเวลามีเพศสัมพันธ์
อาจกำลังเสี่ยง : เนื้องอกในมดลูก

3. ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ
หากมาพร้อมกับอาการเพลีย อ่อนแรง เต้านมแบนแฟ่บ และขนในร่างกายหลุดร่วง
อาจกำลังเสี่ยง : โรคต่อมใต้สมองขาดเลือด

4. ประจำเดือน มาพร้อมลิ่มเลือด
และอาจมีปริมาณประจำเดือนมากกว่าปกติ
อาจกำลังเสี่ยง : อุ้งเชิงกรานอักเสบ

5. ประจำเดือนสีเข้มจัด
และอาจมีปริมาณประจำเดือนน้อย มาพร้อมอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ
อาจกำลังเสี่ยง : โรคโลหิตจาง

6. ประจำเดือนมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
หากมาพร้อมอาการคัน หรือเจ็บแสบในช่องคลอด และมีตกขาวด้วย
อาจกำลังเสี่ยง : ติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียที่ช่องคลอด มดลูก มีพยาธิในช่องคลอด หรืออุ้งเชิงกรานอักเสบ

7. หน้าซีด ตัวซีด จากการมีประจำเดือนออกมามากเกินไป
หากมีอาการปวดบริเวณท้องน้อย และประจำเดือนมีกลิ่น
อาจกำลังเสี่ยง : ปีกมดลูกอับเสบ

8. ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันท้ายๆ ของการมีประจำเดือน ยิ่งปวดท้องหนักขึ้น
อาจกำลังเสี่ยง : โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรืออาจเป็นช็อคโกแลตซีสต์

9. ประจำเดือนมานานมากกว่า 7 วัน
อาจมาพร้อมกับอาการประจำเดือนมาๆ ขาดๆ ไม่สม่ำเสมอ
อาจกำลังเสี่ยง : โรคอ้วน เครียด หรือออกกำลังกายมากเกินไป

สังเกตตัวเองให้ดี เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ไม่อาจมองข้ามได้นะคะ ยิ่งใครอายุเกิน 25 ปี ยิ่งต้องระวัง เพราะอาจมีความเสี่ยงกับการตั้งครรภ์ในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นหากพบอาการผิดปกติในส่วนไหน อย่าลืมรีบพบแพทย์นะคะ
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

โทษของการกินอาหาร “รสจัด”...แต่ถ้าไม่อยากจบที่ “รสจืด” ต้องรู้วิธีเลี่ยง!



   คนที่หลงรักและมีความสุขนักกับการกิน เคยพูดไว้ว่า “จะอยู่อย่างไร เมื่อโลกไร้รสชาติ” รสชาติอาหารที่ถูกปากคืออรรถรสแห่งชีวิต เพียงได้ชิมก็เหมือนได้ยิ้มรับความสุข แต่แน่นอนว่า “ความอร่อย” ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี “อาหารรสจัด” แม้โดนใจ แต่ร่างกายอาจไม่ชอบ!
     รสชาติเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ขม หรือรสเผ็ด ล้วนมีประโยชน์กับสุขภาพและกระตุ้นให้เราอยากอาหาร บางคนขอแค่ได้เติมพริกน้ำปลาอาหารตรงหน้าก็อร่อยขึ้น ร่างกายเรารับรู้รสชาติได้จากปุ่มรับรสที่ลิ้น มีเซลล์มากมายทำหน้าที่แยกรสชาติ เซลล์พวกนี้มีอายุอยู่แค่ 7 วัน หลังจากนั้นก็เสื่อมลง ยิ่งแก่เซลล์ยิ่งเหลือน้อย สังเกตดู.. คนแก่มากๆ ท่านจะไม่ค่อยรู้รสอาหารเท่าไหร่ สำหรับวัยหนุ่มสาว ถึงลิ้นจะยังดีพร้อมแฮปปี้กับทุกรสชาติ ก็ต้องระวัง อย่าอร่อยเพลินจนเกินร่างกายจะรับไหว เพราะอาหารที่มีรสจัดเกินไปให้โทษ มีอะไรบ้าง ตามมาดู!!
     รสเผ็ด อาหารรสเผ็ด นอกจากกินแล้วแซบตาตื่น ปลุกความสดชื่นในตัวคุณ ยังช่วยให้ปอดและลำไส้ทำงานปกติ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยขับเหงื่อ ขับลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ และยังช่วยร่างกายเผาผลาญได้ดีขึ้น โทษของ “รสเผ็ด” คือถ้าเผ็ดไป ก็จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร
     รสเปรี้ยว เรียกน้ำย่อย เรื่องนี้เห็นทีจะจริง เพราะความเปรี้ยวช่วยกระตุ้นการทำงานของตับและถุงน้ำดีให้ปล่อยน้ำย่อย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมอาหารได้ดี ช่วยฟอกเลือด ช่วยขับเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟันและเป็นยาระบายอ่อน ๆ แต่โทษก็มีเช่นกัน คือ ทำให้ท้องเสีย ร้อนใน และมีผลกับระบบน้ำเหลืองจนทำให้แผลหายช้า

     รสหวาน เมื่อร่างกายได้ความหวานจะรู้สึกสดชื่นมีแรงขึ้นมาก แต่อันตรายที่แฝงก็มากตามไปด้วย เพราะการกินหวานมากไป แต่ไม่ออกกำลังกายอาจทำให้ อ้วน ทั้งยังเป็นสาเหตุของความรู้สึก ง่วงนอนและขี้เกียจ สำหรับคนที่มี เสมหะในลำคอ บ่อยๆ สังเกตได้เลยว่ามักเป็นคนที่กินรสหวานจัด และแน่นอนว่าจากสถิติที่ผ่านมา คนกินรสหวานมักเสี่ยงเป็น “เบาหวาน” เพราะเมื่อกินอาหารรสหวานเข้าไปมากๆ จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขาดความสมดุล ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมามากกว่าปกติเพื่อกำจัดปริมาณน้ำตาลในเลือด ยิ่งถ้าเป็นเบาหวานอยู่แล้ว และกินหวานเข้าไปอีก ก็จะยิ่งให้ตับอ่อนทำงานหนักและเป็นอันตราย นอกจากนี้ความหวานยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคไต มากขึ้นด้วย
     รสเค็ม แน่นอนว่าต้องมีทั้งดีและแย่ ประโยชน์ของรสเค็ม โซเดียมที่ร่างกายได้รับจะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมความสมดุลของของเหลวในร่างกาย รักษาความดันโลหิตให้อยู่ระดับปกติ ช่วยควบคุมระดับความเป็นกรดและด่างของเลือด ส่วนโทษ คือ เมื่อเราได้รับโซเดียมจากเกลือและสะสมจนสูงกว่าปกติ ร่างกายจะพยายามขับออกทางปัสสาวะ ยิ่งบ่อยก็ยิ่งคอแห้ง หิวน้ำตลอดและร้อนใน คนที่เป็นมากๆ อาจถึงขั้นภาวะขาดน้ำได้เลย ที่สำคัญกินเค็มมาก โซเดียมในเลือดมาก ก็จะทำให้เลือดไหลเวียนช้าจนกลายเป็น “ความดันโลหิตสูง”
     กิน รสจัด ไม่ดี แต่กิน รสจืด ก็ไม่ถูกใจทำยังไงดี? บอกเลยว่าทางออกของคนชอบกิน หลงใหลในอาหารสจัดและยังอยากสุขภาพดี คือการเลือกเครื่องปรุงลดโซเดียมและน้ำตาล เช่น เครื่องปรุงรส ตรา กู๊ดไรฟ์ ที่พัฒนาสูตรโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยใช้เกลือโพแทสเซียมแทนเกลือโซเดียม ทำให้รสชาติความเค็มยังที่ความอร่อยดีคงเดิม และยังใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล นักชิมทั้งหลายจึงวางใจได้ว่าปรุงอาหารรสชาติโปรดได้เหมือนเดิม โดยสูตรนี้สามารถลดปริมาณโซเดียมและน้ำตาลได้ถึง 40-60% ดีกับคนรักสุขภาพ เหมาะที่จะนำไปปรุงอาหารอาหารคลีน ไม่ทำลายสุขภาพ และดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด เรียกว่ากินอาหารรสถูกปากได้สุขภาพดีด้วย สั่งซื้อเครื่องปรุงลดโซเดียมและน้ำตาล ได้ที่ www.goodlifeforyou.com
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ผมร่วงมากแค่ไหน ต้องรีบปรึกษาแพทย์?


อธิบดีกรมการแพทย์เตือนผมร่วงต่อเนื่องเกินวันละ 30-50 เส้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ชี้อาจเป็นสัญญาณเตือนที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของร่างกาย เช่น โรคเอสแอลอี ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โดยปกติผมของคนเรามีประมาณ 80,000-1,200,000 เส้น งอกยาวขึ้นประมาณวันละ 0.35 มิลลิเมตรและมีอายุนาน 2-6 ปี ซึ่งปกติจะมีผมร่วงเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่เกินวันละ 30-50 เส้น ดังนั้น ผมร่วงผิดปกติอาจเกิดจากสาเหตุๆ เช่น ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ พบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ชายมากกว่า เนื่องจากรากผมมีความไวต่อฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ทำให้เส้นผมมีอายุสั้นกว่าปกติและเส้นผมที่เกิดใหม่มีขนาดเล็กและบางลง ส่วนมากจะเป็นบริเวณกลางศีรษะและหน้าผากเริ่มสังเกตได้เมื่อมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป ส่วนผู้หญิงมักแสดงอาการหลังวัยหมดประจำเดือน ผมร่วงเนื่องจากผมหยุดเจริญชั่วคราว
ในแต่ละวันจะมีเส้นผมประมาณ 10-15% ที่หยุดเจริญและหลุดร่วงไป แต่ในบางภาวะเส้นผมที่กำลังเจริญอาจหยุดการเจริญในทันที ทำให้มีเส้นผมเสื่อมและหลุดร่วงเพิ่มจำนวนมากกว่าปกติ เช่น ผู้หญิงหลังคลอด ทารกแรกเกิด หลังจากเป็นไข้สูง ได้รับการผ่าตัดใหญ่ เจ็บป่วยเรื้อรัง การเสียเลือด การบริจาคเลือด การใช้ยาบางชนิด และภาวะเครียดทางจิตใจ ผมร่วงชนิดนี้มักจะเกิดขึ้นใน 1-3 เดือน หลังจากนั้นจะหยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ตามปกติ

 ผมร่วงเป็นหย่อม เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จะมีอาการผมร่วงเฉพาะที่ในรูปแบบกลมหรือรี มีขอบเขตชัดเจน ตรงกลางไม่มีเส้นผม หนังศีรษะในบริเวณนั้นไม่แดง ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่เป็นสะเก็ดหรือเป็นขุย บางคนอาจพบเส้นผมสีขาวขึ้นในบริเวณนั้น ผู้ป่วยอาจมีผมร่วงเพียง 1-2 หย่อม หรืออาจมากกว่า 10 หย่อม ถ้าเป็นมากอาจลุกลามจนทั่วศีรษะ บางคนอาจมีขนตาและขนคิ้วร่วงร่วมด้วย ผู้ป่วยบางคนอาจหายไปเองตามธรรมชาติ แต่อาจกินเวลาเป็นปี บางคนเมื่อรักษาหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่ เป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง ซึ่งอาจเป็นร่วมกับโรคต่อมไทรอยด์และโรคด่างขาว
ผมร่วงจากการถอนผม พบได้บ่อยในเด็กที่มีปัญหากดดันทางจิตใจด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ปัญหาทางครอบครัว ปัญหาการเรียน เด็กบางคนอาจถอนผมเล่นจนเป็นนิสัย ผู้ป่วยจะถอนผมตัวเองจนผมแหว่ง หนังศีรษะบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีผื่นคันหรือเป็นขุย และจะพบเส้นผมที่เป็นตอสั้นๆอยู่มาก เนื่องจากผู้ป่วยถอนออกไม่ถนัด
ผมร่วงจากเชื้อรา โรคเชื้อราที่ศีรษะ (กลากที่ศีรษะ) อาจพบได้บ่อยในเด็ก เกิดจากการติดเชื้อรา โรคนี้ผมร่วงเป็นหย่อมๆ เป็นผื่นแดงคันและเป็นขุยหรือสะเก็ด นอกจากนี้ มักจะพบร่องรอยของโรค เชื้อรา (กลาก) ที่มือ เท้า ลำตัวหรือในบริเวณร่มผ้าร่วมด้วย
ผมร่วงจากการทำผม การทำผมด้วยการม้วนผม ย้อมสีผม ดัดผม เป่าผม หรือวิธีอื่นๆ อาจทำให้ผมร่วงได้ จากการที่มีหนังศีรษะอักเสบ หรือเส้นผมเปราะหัก
ผมร่วงจากยาและการฉายรังสี ยาที่อาจทำให้เกิดอาการผมร่วงมีอยู่หลายชนิด เช่น ยารักษามะเร็งการฉายรังสีในการรักษามะเร็ง ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ยารักษาคอพอกเป็นพิษ ยาคุมกำเนิด ยาใช้ป้องกันโรคเกาต์
ผมร่วงจากโรคอื่นๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคเอสแอลอี อาจมีอาการ ผมร่วง ผมบาง ร่วมกับอาการไข้เรื้อรัง ปวดตามข้อ มีผื่นปีกผีเสื้อขึ้นที่หน้า โรคเรื้อรังบางอย่าง ก็ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ไทรอยด์ ซิฟิลิส โรคตับ โรคไต

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะนำข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ว่า
1. ควรสระผมทำความสะอาดเส้นผมและผิวหนังของศีรษะอย่างสม่ำเสมอ
2. ไม่ควรเกาหรือขยี้หนังศีรษะแรงจนเกินไป
3. หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกับหนังศีรษะ เช่น การย้อม ทำสี ดัด ผมที่บ่อยเกินไป
4. หลีกเลี่ยงการดึงหรือถอนผมเล่น
5. หลีกเลี่ยงความเครียดเพราะจะกระตุ้นให้อาการผมร่วงมากขึ้น
ทั้งนี้ อาการผมร่วงในผู้ป่วยบางรายอาจหายเองได้ แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุของโรคและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
ที่มา:sanook

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561

แพทย์ชี้ ใช้ "น้ำมนต์" รักษาโรคผิวหนังเสี่ยงติดเชื้อ

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์  ชี้ “ใช้น้ำมนต์รักษาโรคผิวหนัง เสี่ยงติดเชื้อ” ทำให้การรักษามีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น และอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อความผ่านสื่อเรื่องการใช้น้ำมนต์รักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังอย่างต่อเนื่อง กรมการแพทย์จึงขอให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อป้องกันความเชื่อที่ว่าการใช้น้ำมนต์สามารถรักษาโรคผิวหนังให้หายได้ เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าการรักษาโรคผิวหนัง ต้องมีความระมัดระวังเนื่องจากเมื่อผิวหนังเกิดโรคต่างๆ ขึ้น เช่น งูสวัด แผลน้ำร้อนลวก หรือการอักเสบอื่น ๆ ผิวหนังบริเวณนั้น ๆ มักมีการปริแยก ซึ่งเป็นช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย การใช้ยาเพื่อการรักษายังต้องมีการฆ่าเชื้อและการจัดเก็บแบบปลอดเชื้ออย่างดีก่อนนำมาใช้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำเติม ดังนั้น การใช้น้ำมนต์ ซึ่งไม่มีการดูแลเรื่องความสะอาด และใช้ปากอมพ่นใส่ตรงจุดที่มีรอยปริแยกของผิวหนัง จึงเป็นความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มเติม

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปกติผิวหนังของมนุษย์สามารถป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ทางผิวหนังได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อร่างกายได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเกิดรอยปริแยกขึ้น ไม่ว่าจากการเกา การกระทบกระทั่งจนเกิดรอยถลอก หรือน้ำร้อนลวกเป็นแผลพุพอง การป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายบริเวณนั้นจะสูญเสียไป ดังนั้นการใช้น้ำมนต์เป่าไปยังจุดที่เป็นโรคงูสวัด และแผลน้ำร้อนลวกจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคเพิ่มเติมสูง โรคงูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยมักจะเป็นในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันโรคลดลง ความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นเพิ่มเติมจึงมีได้ง่าย เช่นเดียวกับแผลจากน้ำร้อนลวก ผิวหนังมีอาการบาดเจ็บเป็นแผล การใช้สิ่งที่ไม่สะอาดสัมผัสแผลโดยตรง อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ จนเข้าสู่กระแสโลหิตเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงต่อระบบอื่นๆ ของร่างกาย จึงขอแนะนำว่าการรักษาโรคทางด้านผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้แพทย์ตรวจรักษาตามแนวทางและขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย  เพื่อให้ผิวหนังของผู้ป่วยกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ที่มา:sanook

วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

พบผู้เสียชีวิตราว 3 ล้านคนด้วยโรคหัวใจ และหลอดเลือดจากการ "สูบบุหรี่"


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ตอกย้ำถึงภัยร้ายของบุหรี่ ที่เป็นต้นตอของโรคร้ายที่คาดไม่ถึง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้คน 3 ล้านคนทั่วโลกในทุกๆ ปี
รายงานของ WHO เปิดเผยรายงานเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ว่า การสูบบุหรี่ของผู้คนทั่วโลกลดลงจากร้อยละ 27 ในปี ค.ศ. 2000 เหลือเพียงร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2016 และทุกปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่มากกว่า 7 ล้านคน
แต่ที่น่าสนใจ คือ ผู้สูบบุหรี่ราว 3 ล้านคนต่อปีทั่วโลก เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด หรือ Cardiovascular ทั้งจากการสูบบุหรี่โดยตรงและการสูบบุหรี่มือสอง หรือ การรับควันบุหรี่ทางอ้อม จากจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 18 ล้านคนต่อปี

ซึ่งนาย ดักลาส เบตต์เชอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันโรคไม่ติดต่อของ WHO ที่บอกว่า คนส่วนใหญ่ทราบดีว่าการสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งและโรคปอด
แต่จากการศึกษาครั้งล่าสุดนี้พบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย และเส้นเลือดในสมองแตกได้เหมือนกัน เฉพาะที่จีน ผู้ทำการสำรวจถึงร้อยละ 73 ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่เป็นต้นตอของโรคเส้นเลือดในสมองแตก และอีกร้อยละ 61 ไม่ทราบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวาย
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายป้องกันโรคไม่ติดต่อของ WHO เสนอว่า หากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้วันนี้ ก็จะทำให้ความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดลดลงในเวลา 15 ปีข้างหน้า
ที่มา:sanook

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เข้าใจใหม่! แบคทีเรียทำให้ฟันผุ ไม่ใช่ "แมงกินฟัน"


สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ เผยฟันผุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไม่ใช้แมงกินฟันอย่างที่เข้าใจ โดยเฉพาะเด็กที่ชอบกินของหวานหรือน้ำตาล และไม่แปรงฟันให้สะอาด แนะแปรงฟันให้ถูกวิธี หมั่นพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6-12 เดือน
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ฟันผุของคนไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วง จากการสำรวจคุณภาพช่องปากของคนไทย พบว่าเด็กอายุ 3 ขวบ ฟันน้ำนมยังขึ้นมาไม่นานก็เริ่มผุ จากนั้นพอเริ่มโตขึ้นอายุได้ประมาณ 5-6 ขวบ จะพบฟันผุได้มากขึ้น สำหรับช่วงวัยรุ่น จำนวนผู้ที่เป็นโรคฟันผุจะลดน้อยลงอาจเนื่องมาจากมีการใส่ใจไปพบหมอฟัน ในขณะที่วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุจะมีปัญหาฟันผุเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการป้องกันฟันผุมีความสำคัญเป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ

ฟันผุ เกิดจากอะไร?

ทันตแพทย์บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่อยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบฟันเกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติกที่มีฤทธิ์ในการสลายแร่ธาตุ ซึ่งเป็นโครงสร้างของฟันจนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง เป็นกระบวนการเริ่มต้นของโรคฟันผุ

วิธีป้องกันฟันผุ

หมั่นสังเกตฟันด้วยตาเปล่า เพื่อตรวจหาบริเวณที่ผิวฟันเป็นรู ฟันที่มีการเปลี่ยนเป็นสีดำหรืออาจมีอาการปวดฟัน รับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้น้อยลง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมขบเคี้ยว หลีกเลี่ยงขนมหวานที่เหนียวติดฟัน เช่น ทอฟฟี่ ผลไม้อบแห้ง และรับประทานอาหารเฉพาะมื้อหลักไม่รับประทานจุบจิบ
นอกจากนี้ควรรักษาสุขภาพช่องปาก หมั่นพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อจะได้ตรวจพบฟันผุตั้งแต่ในระยะแรกๆ ที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้น รวมไปถึงการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหาในช่องปากและโรคฟันอื่นๆ นอกจากนี้ควรแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน หรือถ้าเป็นไปได้ควรแปรงทุกครั้งหลังรับประทานอาหารซึ่งรวมถึงหลังอาหารมื้อเที่ยง และควรใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึงหรือหลังรับประทานอาหารทุกครั้งควรบ้วนปากในทันที
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561

5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พบมากไม่แพ้เอดส์


โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ได้มีเพียงโรคเอดส์เท่านั้น แถมยังพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปีอีกด้วย จากสรุปรายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประจำปี 2557 จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข พบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สำคัญทั้ง 5 โรค ได้แก่

1. ซิฟิลิส

อาการ : มีตุ่มแดงแตกออกเป็นแผลที่อวัยวะเพศ ตรงบริเวณที่เชื้อเข้า หรืออาจพบที่อัณฑะ ทวารหนัก ช่องคลอด หรือริมฝีปาก แผลอาจไม่เจ็บ และหายเองภายใน 1-5 สัปดาห์ แต่เชื้อยังอยู่ในกระแสเลือด หากปล่อยต่อไปอาจมีผื่นสีน้ำตาลขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไม่คัน หูดขึ้นบริเวณอับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก ขาหนีบ หรืออาจผมร่วงเป็นหย่อมๆ หากร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เชื้ออาจทำลายอวัยวะภายใน เช่น หัวใจและหลอดเลือด สมอง ตาบอด หรือกระดูกหักง่าย

2. หนองใน

อาการ : มีอาการระคายเคืองที่ท่อปัสสาวะ ปวดแสบเมื่อปัสสาวะ มีหนองสีเหลืองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ หากเป็นผู้หญิงอาจมีตกขาว หรือเลือดผิดปกติ

3. หนองในเทียม

อาการ : เป็นการอักเสบของท่อปัสสาวะที่เกิดเชื้อโรคที่ไม่ใช่หนองในแท้ อาการที่พบคล้ายโรคหนองใน คือหนองไหลออกมาจากอวัยวะเพศ และปวดแสบร้อนเมื่อปัสสาวะ ผู้ชายอาจรู้สึกปวดหน่วงที่อวัยวะเพศ และอัณฑะอักเสบ ผู้หญิงอาจปัสสาวะขัด ตกขาว ปวดท้องน้อย และเลือดออกเมื่อมีเพศสัมพันธ์
4. แผลริมอ่อน

อาการ : พบตุ่มนูน และเจ็บบริเวณเส้นสองสลึง หลังจากนี้จะมีแผลเล็กๆ ก้นแผลมีหนอง ขอบแผลนูนไม่เรียบ นุ่ม ไม่แข็ง ผู้ชายจะเจ็บมาก แต่ผู้หญิงอาจไม่เจ็บ จึงทำให้เกิดการติดต่อสู่ผู้อื่นได้ง่าย ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต กดเจ็บ หากแตกเป็นหนองจะเรียกว่าฝีมะม่วง

5. ฝีมะม่วง

อาการ : มีแผลที่อวัยวะเพศ ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต มีหนองไหลออกมา นอกจากนี้ยังมีอาการท่อปัสสาวะอักเสบ และอาจมีหนองและเลือดออกมาจากรูทวาร เมื่อปวดเบ่งอุจจาระ

ที่น่าตกใจคือ พบว่าผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ในช่วงอายุ 10-24 ปีเท่านั้น และอยู่ในอัตราสูงอีกด้วย ดังนั้นนอกจากตัวผู้อ่านเองแล้ว ควรหมั่นตรวจพฤติกรรมลูกหลานของท่าน ให้รู้จักการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรค และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรด้วยนะคะ
ที่มา:sanook