วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

"เหงื่อออกมือ" แบบไหนถึงอันตราย-ผิดปกติ?


หากพูดถึงอาการ “เหงื่อออกมือ” หลายคนคงนึกถึง โรคหัวใจ ขึ้นมาทันที เพราะอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมา แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่มีเหงื่อออกบริเวณมือมากกว่าปกติ โดยไม่สัมพันธ์กับอากาศร้อน ความเครียด หรือการออกกำลังกาย  อาจเป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)  ที่มีสาเหตุจากต่อมเหงื่อและประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) ที่ควบคุมต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ

วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

10 สัญญาณอันตราย โรค “ตับแข็ง”


ตับ เป็นอวัยวะที่ช่วยทำลายสารพิษ หรือของเสียออกจากเลือด สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรค สร้างสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว และสร้างน้ำดีเพื่อย่อยอาหาร และดูดซึมวิตามินที่ละลายในน้ำมัน เมื่อตับมีหน้าที่ทำงานหลายอย่างขนาดนี้ หากตับพัง หรือทำงานผิดปกติเมื่อไร ร่างกายย่อมรวนอย่างรวดเร็วแน่นอน หากเป็นโรคตับ จะมีสัญญาณเตือนภัยอะไรบ้าง มาเช็คกันค่ะ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

จริงหรือไม่? ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ เสี่ยง “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ”


บางคนอาจจะเคยทราบมาว่า การดื่มน้ำน้อยเกินไป รวมไปถึงพฤติกรรมกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ เป็นสาเหตุที่สำคัญของโรค “กระเพาะปัสสาวะอักเสบ” แต่สำหรับคุณผู้หญิงแล้ว อาจมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบมากขึ้น

วันเสาร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

7 สัญญาณอันตราย เสี่ยง "มะเร็ง"


นพ.วีรวุฒิ  อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งจำเป็นต้องพิจารณาตามความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เริ่มจากการซักประวัติทั่วไปเรื่องพฤติกรรมที่ไม่ดีสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง และมีอาการแสดงของ 7 สัญญาณอันตรายต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม” อันตรายจากการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ


ด้วยการงานที่รัดตัวตลอดเวลาของวัยทำงาน อาจทำให้ใครหลายคนต้องนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดทั้งวันโดยแทบไม่มีเวลาจะลุกไปไหน ทานข้าวยังนั่งทานหน้าคอม พฤติกรรมแบบนี้จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว หนึ่งในโรคนั้นคือ คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เทคโนโลยีการรักษา "แผลที่เท้า" ของผู้ป่วย "เบาหวาน"


แผลเบาหวานที่เท้า   (Diabetic Foot Ulcer)

  1. 85% ของผู้ป่วยเบาหวานที่ถูกตัดเท้ามีแผลบริเวณเท้ามาก่อน
  2. 40% - 70% ของโรคเบาหวานมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดขา/เท้า
  3. ทุกๆ 30 วินาทีมีผู้ป่วยเบาหวานสูญเสียเท้าจากการถูกตัดขา/เท้า
  4. 1 ใน 6 รายของผู้ป่วยเบาหวาน ต้องเคยมีบาดแผลอย่างน้อย 1 ครั้ง

วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อันตราย! ท้องเสีย ท้องร่วง แต่ถ่ายไม่บ่อย เสี่ยง “เชื้อบิด”


ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องเสียจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ หรืออาการถ่ายเหลวที่ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายบ่อยมากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป แต่ไม่มีอาการอะไรอีกนอกจากอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว อาการแบบนี้มักไม่เป็นอันตรายร้ายแรงหากสามารถหยุดถ่ายได้เองในเวลาต่อมา เพียงแต่ต้องคอยดื่มน้ำเกลือแร่เป็นระยะๆ จนกว่าจะหยุดถ่ายเท่านั้น
แต่อาการท้องเสียอีกประเภทหนึ่ง คือ อาการท้องเสียที่อาจมีมูกเลือดปน ปวดท้องแบบปวดบิดทรมาน แต่ละครั้งถ่ายปริมาณไม่มาก และอาจมีอาการอาเจียน ปวดศีรษะ มีไข้ กรณีนี้อาจเสี่ยงติดเชื้อ และหนึ่งในนั้นอาจเป็นเชื้อบิด

โรคบิด เกิดจากอะไร?

คืออาการท้องเสียอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella) หรือเกิดจากติดเชื้อจากสัตว์เซลล์เดียวอย่างตัวอะมีบา (E. histolytica) โดยอาจมีสาเหตุจากการทานอาหารที่มีเชื้อแบคมีเรียเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย
โรคบิด แบ่งออกเป็น ชนิดมีตัว ที่เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวอันมีชื่อว่า อะมีบา มักพบในเขตร้อนชื้น และโรคบิดชนิดไม่มีตัว ที่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มชิเกลลา โดยทั้ง 2 ชนิดสามารถพบได้ในแหล่งที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดีพอ

อาการของโรคบิด

โรคบิดมีอาการคล้ายกับอาการท้องเสียทั่วไป คือการถ่ายเหลว แต่อาจถ่ายในแต่ละครั้งไม่มากนัก และอาจไม่ได้ถ่ายในจำนวนครั้งที่มากนักเช่นกัน แต่มีอาการอันตรายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ปวดท้องเกร็งเป็นพักๆ อ่อนเพลีย ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาโรคบิด

ผู้ป่วยโรคบิดอาจมีความรุนแรงของอาการในแต่ละอย่างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ และสภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วยเอง แต่อย่างไรเมื่อมีไข้ อาเจียน และถ่ายมากจนอ่อนเพลีย ควรได้รับยาลดไข้ และฆ่าเชื้อจากแพทย์ หรือบางรายอาจได้รับน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือแร่ชนิดผงเพื่อลดความอ่อนเพลียของร่างกาย นอกจากนี้หากมีเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย ควรได้รับการตรวจจากแพทย์อย่างละเอียดเพื่อติดตามอาการว่าแบคทีเรียจะไปทำร้ายส่วนต่างๆ ภายในร่างกายอีกหรือไม่ เพราะหากไม่ได้รับยาฆ่าเชื้ออย่างทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจนทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ลำไส้อักเสบ เกิดฝีในตับ และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อันตรายมากกว่าเดิมได้ ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเหลว ปวดท้องเกร็ง อาเจียน และมีไข้ ควรรีบไปโรงพยาบาลจะดีที่สุด

การป้องกันโรคบิด

  1. หลีกเลี่ยงการทานอาหารจากแหล่งผลิต ร้านอาหาร หรือสังเกตอุปกรณ์ในการทำอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ได้มาตรฐาน
  2. ล้างมือ ล้างอุปกรณ์ในการทำ และทานอาหารให้สะอาด
  3. แยกอุปกรณ์ในครัวที่ใช้กับของดิบ กับของที่ปรุงสุกแล้วออกจากกัน อย่าใช้ร่วมกันโดยเด็ดขาด เช่น มีด เขียง ชาม จาน เป็นต้น
  4. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น
  5. ดื่มน้ำจากแหล่งผลิตที่สะอาด และไว้ใจได้เท่านั้น
  6. หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่สุขลักษณะไม่ค่อยดี ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งของบริเวณนั้นโดยตรง เช่น ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู และอาหารต่างๆ
ที่มา:sanook

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

"ไข้เลือดออก" รอบสอง เป็นแล้วก็เป็นได้อีก แถมยังรุนแรงขึ้นด้วย


คุณสามารถติดเชื้อไข้เลือดออกได้ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว หรือสอง แต่อาจหลายครั้ง โดยเมื่อเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง หรือรอบต่อๆ มานั้น มักจะมีอาการหนักและรุนแรงกว่าครั้งก่อนหน้าเสมอ
ใช่แล้ว ไข้เลือดออกโจมตีเราได้ครั้งแล้วครั้งเล่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) โรคไข้เลือดออกมีการแพร่ระบาดในกว่าหนึ่งร้อยประเทศทั่วโลก และประมาณว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ถึงสามพันล้านคน หรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรโลกเลยทีเดียว
สำหรับสถิติในประเทศไทยนั้น มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกลุ่มอายุที่เป็นไข้เลือดออกมากที่สุด คืออายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี, 15-24 ปี และ 25-34 ปีตามลำดับ เรียกได้ว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง ถ้าหากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย โดยสองสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก็คือภาวะเลือดออกมาก และเลือดรั่วจากเส้นเลือดจนเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิต
ไวรัสเด็งกี่ (Dengue) ซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ โดยในประเทศไทยมีการะบาดของทั้งสี่สายพันธุ์หมุนเวียนกันไปตามแต่พื้นที่ และจากการที่ไวรัสเด็งกี่มีหลายสายพันธุ์เช่นนี้ ทำให้เกิดโอกาสเป็นอย่างมากว่า เราอาจจะติดเชื้อและเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และที่ร้ายที่สุดก็คือ ในครั้งถัดมาของการติดเชื้อ อาการของโรคมักจะหนักมากกว่าครั้งก่อน และอาจหนักขึ้นจนถึงแก่ชีวิตเลยก็เป็นได้

ทำไมครั้งต่อมาถึงหนักหนากว่าครั้งแรก

ก่อนหน้านี้เราทราบกันแต่เพียงว่า การเป็น ไข้เลือดออก รอบสอง นั้น มักจะมีอาการหนักกว่าครั้งแรก แต่ก็ยังไม่เข้าใจชัดเจนว่าเพราะเหตุใด แต่ในตอนนี้ ได้มีงานวิจัยที่ออกมาชี้ชัดแล้วว่า ทำไมการติดเชื้อครั้งต่อมาถึงร้ายแรงขึ้น
จากการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2004-2016 ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 2-14 ปี จำนวน 6,684 คน เพื่อดูว่าทำไมเด็กจึงมักจะเกิดไข้เลือดออกชนิดที่ร้ายแรง (dengue hemorrhagic fever และ dengue shock syndrome) เมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สอง คำตอบที่เรียบง่ายในเรื่องนี้ก็คือ ในการติดเชื้อครั้งแรกนั้น ระบบภูมิคุ้มกันจะทำงานตามปกติด้วยการสร้างแอนตี้บอดี้มาต่อสู้กับการรุกรานของไวรัส แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือแอนตี้บอดี้เหล่านี้สามารถสับสนได้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไข้เลือดออกสายพันธุ์อื่นในภายหลัง หรือแม้กระทั่งสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม โดยในการติดเชื้อครั้งที่สองนี้ แอนตี้บอดี้อาจจะรับรู้ถึงการเข้ามาของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่จะทำงานได้ไม่ดีพอในการกำจัดมันออกจากระบบ และแทนที่จะกำจัดมันออกไป แอนตี้บอดี้กลับไปจับตัวกับไวรัสที่เข้ามาใหม่ ในแบบที่กลับช่วยให้มันรุกรานระบบภูมิคุ้มกันและทำให้มันกระจายตัวไปมากยิ่งขึ้น และทำให้การติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อมายิ่งรุนแรงขึ้น

ไม่ได้เป็นไข้เลือดออกครั้งแรก ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง

ดังนั้น จึงเป็นจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องแจ้งให้หมอทราบเสมอว่า คุณเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน หากคุณเข้ารับการรักษาอาการที่อาจจะเป็นไข้เลือดออกได้ เพื่อให้หมอสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับอาการร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าคุณติดเชื้อไข้เลือดออกเป็นครั้งที่สองหรือสามหรือสี่ วัคซีนไข้เลือดออก อาจช่วยคุณได้

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

วัคซีนไข้เลือดออกซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 พร้อมกับอีก 17 ประเทศที่ให้การรับรองในการนำวัคซีนตัวนี้มาใช้ได้ โดยวัคซีนจะสามารถช่วยป้องกันไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ 65.6% และป้องกันความรุนแรงของโรคได้ถึง 93.2%
ถึงแม้จะมีข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ในกลุ่มเด็กที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน จนทำให้เกิดข้อโต้แย้งเรื่องประโยชน์ของวัคซีนในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน แต่ในกรณีของผู้ที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนนั้น เมื่อได้รับวัคซีนจะสามารถป้องกันไข้เลือดอกได้มากถึง 81.9% เนื่องจากวัคซีนไข้เลือดออกเกิดจากการผสมกันระหว่างวัคซีนเชื้อไข้เหลืองที่มีใช้มานาน พ่วงกับเชื้อไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่วัคซีนที่เป็นเชื้อไข้เลือดออกล้วนๆ ทำให้กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้
การฉีดวัคซีนไข้เลือดออกกำหนดให้ฉีดสามครั้ง โดยเว้นระยะ 6 และ 12 เดือน การฉีดแต่ละคร้งจะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะป้องกันโรคได้นานแค่ไหน แต่จากการติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้มาเป็นเวลา 6 ปี ก็พบว่ายังมีภูมิคุ้มกันสูงอยู่
ดังนั้น สำหรับผู้ที่เป็นไข้เลือดออกมาแล้ว และมักปรากฏอาการร้ายแรงในการติดเชื้อครั้งที่สองหรือครั้งต่อๆ การป้องกันไม่ให้โรคมาเยือนซ้ำสองจึงเป็นหัวใจสำคัญ และการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ก็ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง “แต้มต่อ” ที่สำคัญในการป้องกันตัวเองจากไข้เลือดออก
ที่มา:sanook

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

4 สัญญาณเสี่ยงโรค “เส้นเลือดหัวใจตีบ” ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม


ปัจจุบัน เทรนด์สุขภาพ การออกกำลังกาย กำลังมาแรง แต่โรคภัยที่อินเทรนด์พอ ๆ กัน และเป็นสาเหตุ ของโรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุดคือ หลอดเลือดหัวใจตีบ  

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือดหัวใจ และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย จึงทำให้มีอัตราเสียชีวิตสูง และต้องการ การรักษาอย่างเร่งด่วนเฉียบพลัน
สถิติผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 150 ต่อวัน หรือปีละ 54,530 คน สถิติผู้เสียชีวิต ทั่วโลกอยู่ที่ 17.7 ล้าน คนต่อปี และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของคนไทยซึ่งมีสาเหตุหลักจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตสุ่มเสียงหรือจากพันธุกรรม 

คนกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ?

โรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคของผู้ใหญ่ตั้งแต่วัยหนุ่มสาวไปจนถึงในผู้สูงอายุ โดยพบได้สูงตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป ในช่วงวัยเจริญพันธุ์พบโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง แต่หลังจากวัยหมดประจำเดือนถาวรแล้ว ทั้งผู้หญิง และผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ใกล้เคียงกัน

4 สัญญาน เสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบควรปรึกษาแพทย์ 

  1. เหนื่อยง่ายเมื่อออกแรงหรือออกกำลัง
  2. เจ็บแน่นหน้าอกเมื่อใช้กำลังเพิ่มขึ้นหรือเมื่อมีความเครียด ในผู้หญิงมักไม่ค่อยพบมีอาการนี้ อาการอาจร้าวไปที่ขากรรไกร ไหล่ และ/หรือ แขนด้านใดก็ได้แต่มักเป็นด้านซ้าย
  3. อาการของโรคหัวใจล้มเหลว (หัวใจวาย) เช่น เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมหน้า แขน ขา 
  4. มีความดันโลหิตสูงไขมันในเลือดสูง

วิธีดูแลป้องกันให้ไม่ป่วยด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

นายแพทย์ ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าวถึงวิธีดูแล ป้องกันก่อนป่วยว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบนี้ มักไม่แสดงอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค หรือเมื่อหลอดเลือดยังตีบไม่มาก ฉะนั้นวิธีป้องกันและดูแลหัวใจที่ดีที่สุดคือ ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต การออกกำลังกายและจัดการความเครียด จำกัดอาหารไขมัน กินอาหารมีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็น สาเหตุปัจจัยเสี่ยงเช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป”  
การปรับวิถีการใช้ชีวิตของผู้ป่วยโรคหัวใจ ยังเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องการออกกำลังกายต้องระมัดระวัง ตามสุขภาพร่างกาย กินยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดไขมันในเลือด แพทย์อาจวินิจฉัยการขยายหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ และอาจเป็นการผ่าตัด หลอดเลือดหัวใจ นอกจากนั้นผู้ป่วยต้องพบแพทย์ตรงตามนัดเสมอ และเมื่อมีอาการผิดปกติ ไปจากเดิม ควรรีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญเมื่อมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมาก อาจเจ็บร้าวขึ้นขากรรไกร ไปยังหัวไหล่ หรือแขน เหนื่อย หายใจขัด ชีพจรเต้นอ่อน เต้นเร็ว เหงื่อออกมาก วิงเวียนจะเป็นลม หยุดหายใจ หรือโคม่า ให้รีบไปพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉิน 

นวัตกรรม TAVI คืออะไร?

โรคลิ้นหัวใจเออร์ติกส์ตีบ อาจเกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิต หากไม่ได้รับ การรักษาและ นวัตกรรม TAVI คือการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียม ด้วยสายสวนลดความเสี่ยงการผ่าตัด

รศ.นพ. กิตติชัย เหลืองทวีบุญ ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยศาสตร์หลอดเลือดและทรวงอก โรงพยาบาลพญาไท 2 ให้ข้อมูลเรื่อง โรคลิ้นหัวใจเออร์ติกส์ตีบว่า เป็นโรคทางหัวใจที่ทำให้ ลิ้นหัวใจเออร์ติก เปิดได้ไม่เต็มที่ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าปกติ เพื่อให้สูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้เท่าเดิม  
ปัจจุบันช่วงอายุของผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบที่พบอยู่ในช่วงวัยกลางคนถึงวัยสูงอายุเนื่องจากมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งเรื่องของอาหาร อารมณ์ ความเครียด ในขณะเดียวกันคนไข้อายุมากมักมีโรคร่วมต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูง ไตวาย อัมพาต เบาหวานทำให้ความยุ่งยาก ในการรักษาโรคหัวใจมากขึ้น และอันตรายจากโรคนี้ก็สูงขึ้นด้วย

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมทางสายสวน หรือ TAVI เป็นนวัตกรรมทางเลือกนอกเหนือจากการผ่าตัด เปิดช่องอก ใช้ในผู้ป่วยที่มีภาวะการตีบรุนแรงของลิ้นหัวใจเออร์ติกส์ ส่วนใหญ่การตีบมักเกิด จากความเสื่อม ของลิ้นหัวใจที่มักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วยหลายโรค ทำให้สภาพ ร่างกายไม่สามารถทนต่อการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องดมยาสลบ และการใช้เครื่องปอดและ หัวใจเทียมระหว่าง ผ่าตัดได้ วิธีการนี้จะช่วยต่อ ชีวิตผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ให้ยืนยาวและมีคุณภาพ ชีวิตที่ดีขึ้น
ที่มา:sanook

วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก หนึ่งใน 7 โรคติดต่ออันตรายที่ไทยกำลังเฝ้าระวัง


ปัจจุบันระบบนิเวศวิทยาทั่วโลก เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื้อโรคมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด  จึงมีความเสี่ยงที่อาจมีโรคติดต่อใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหลายโรค และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคติดต่อในปัจจุบัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ อาศัย อำนาจตามความในพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้ออกประกาศชื่อโรคติดต่ออันตรายที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังรวมทั้งสิ้น 13 โรค หนึ่งในนั้นเป็นโรคที่คนไทยคุ้นหู แต่อาจจะไม่คุ้นเคยด้วยชื่อด้านหลังที่ตามมาด้วย นั่นคือ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก

ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก คืออะไร?
โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก (Crimean – Congo hemorrhagic fever : CCHF) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส tick-borne (Nairovirus) ตระกูล Bunyaviridae โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกพบว่ามีการแพร่ระบาดได้ในแอฟริกา แถบคาบสมุทรบอลข่าน (ส่วนของตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป) ตะวันออกกลาง และเอเชีย

การติดต่อของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
  1. การถูกเห็บที่มีเชื้อกัด
  2. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของสัตว์ที่มีเชื้อ
  3. สัมผัสเลือดหรือเนื้อเยื่อของคนป่วย

อาการของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
ไข้เฉียบพลัน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บตา ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงและปวดท้อง
ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน และก้าวร้าว จากนั้นอาจมีอาการง่วง ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ำเหลืองโต มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ และพบเลือดออกจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร มีเลือดปนในปัสสาวะ มีเลือดกำเดา และเลือดออกจากเหงือก ในบางรายอาจพบอาการของตับอักเสบ

ความอันตรายของโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก มีอัตราป่วยตายร้อยละ 30-40 จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด

การป้องกันโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
การป้องกันโรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโกทำได้โดย ระมัดระวังไม่ให้โดนเห็บ หรือหมัดกัด หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของโรค และหากมีไข้เฉียบพลัน เจ็บตา หน้าแดง คลื่นไส้ ท้องร่วง ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
ที่มา:sanook

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

อุจจาระเป็นเลือด เสี่ยง 6 โรคร้ายสุดอันตราย


ก่อนหันไปกดชักโครก คุณควรหันไปสังเกตลักษณะของอุจจาระของคุณบ้าง เพราะสุขภาพของเราสามารถตรวจได้ง่ายๆ จากอุจจาระนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สี กลิ่น หรือลักษณะที่เห็นได้จากภายนอก



ความปกติที่ชัดเจน และหลายคนอาจตกใจเมื่อได้เห็น คืออุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระที่มีเลือดสดๆ ปนออกมาด้วย และที่เราทราบกันมาคือ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคริดสีดวงทวาร แต่อันที่จริงแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่อาจแสดงอาการเริ่มต้นจากอุจจาระเป็นเลือด แถมยังอันตรายกว่าโรคริดสีดวงทวารอีกด้วย


โรคอันตราย ที่เริ่มต้นจากอาการ “อุจจาระเป็นเลือด”

  1. โรคริดสีดวงทวาร

คนที่ท้องผูกบ่อยๆ จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ถ่ายได้ตามปกติ หากมีอุจจาระเป็นก้อนแข็งบ่อยๆ จนอุจจาระไปครูดกับผิว หรือเยื่อเมือกของทวารหนักจนเกิดเป็นแผล มีเลือดสดไหลออกมาเป็นหยดๆ หรือเป็นเส้นๆ พร้อมอุจจาระอยู่บ่อยๆ นอกจากจะมีอาการปวดแสบบริเวณรูทวารหนักแล้ว ยังอาจมีก้อนริดสีดวงปลิ้นออกมา จนมีอาการอักเสบ ปวดแสบหนักมากขึ้น หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธี

  1. เลือดออกในลำไส้ใหญ่

หากมีเลือดสดๆ หรือลิ่มเลือดไหลออกมาพร้อมกับอุจจาระด้วย แต่ไม่ได้มีอาการปวดแสบที่ทวารหนัก เพราะไม่ได้มีอาการท้องผูก อาจเป็นเพราะมีเลือกออกในลำไส้ใหญ่ หากมีอาการเล็กๆ น้อยๆ เลือดไหลออกมาน้อย และเลือดหยุดไหลได้เอง สามารถรอดูอาการที่บ้านได้ แต่หากมีเลือดไหลออกมาก ควรนอนพัก งดน้ำงดอาหาร และพบแพทย์ที่โรงพยาบาลดีที่สุด

  1. เลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก

อาการอาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน (หรือไม่มีอาการอาเจียนก็ได้) จากนั้นอาจตามด้วยการอุจจาระเป็นเลือด โดยเลือดจะเป็นสีเข้มจนเกือบดำ หากถ่ายเป็นเลือดจำนวนมาก ควรงดน้ำ งดอาหาร แล้วรีบพบแพทย์โดยด่วน

  1. โรคบิด

หากมีอาการท้องเสียท้องร่วง แล้วอุจจาระมีมูกเลือดปน กลิ่นเหม็นรุนแรง อาจเสี่ยงเป็นโรคบิดที่เกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ใหญ่ จนทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบ เป็นแผล ควรให้แพทย์ตรวจอุจจาระเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนที่โรงพยาบาล

  1. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งจะทำให้เกิดแผล โดยเฉพาะบริเวณใกล้ทวารหนัก จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะถ่ายแล้วมีเลือดปน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่อายุมากกว่า 40-50 ปี แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับคนวัยรุ่น วัยทำงานได้เช่นกัน ยิ่งครอบครัวของใครมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทางที่ดีคือ ลดการทานเนื้อแดง อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม หยุดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายเป็นประจำ

  1. โรคลำไส้ขาดเลือด

โรคลำไส้ขาดเลือด มาจากหลายสาเหตุ แต่อาการคือเลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนในลำไส้ได้ ทำให้เซลล์ลำไส้เริ่มไม่ทำงาน จนกระทั่งเซลล์ตาย และเริ่มเน่าจนมีแบคทีเรีย อาการที่พบคือปวดท้องเกร็ง อาจปวดมากจนหมดสติ และอาจมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้ หากระหว่างปวดท้องมีอาการถ่ายเป็นเลือดด้วย แสดงว่าอาการเริ่มจะหนัก ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็คให้แน่ใจ เพราะหากบางส่วนของลำไส้เริ่มเน่า จะต้องผ่าตัดเพื่อนำลำไส้ส่วนที่เสียแล้วออกไป แล้วต่อลำไส้ที่ยังทำงานได้ตามปกติเข้าด้วยกัน

นอกจากอุจจาระเป็นเลือดจะเป็นสัญญาณอันตรายถึงโรคต่างๆ ได้แล้ว การที่สีของอุจจาระมีสีแดงเข้มหรือเกือบดำ อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การทานอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ หรือกำลังทานยาบำรุงเลือดอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นหากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือสีคล้ายเลือดเล็กๆ น้อยๆ และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ อาจลองทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจช่วยให้อาการดังกล่าวดีขึ้น แต่หากไม่แน่ใจ พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายก็จะดีที่สุดค่ะ
ที่มา:sanook

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ลุยน้ำลุยโคลนหน้าฝนระวัง! “เมลิออยด์” โรคติดต่ออันตรายถึงชีวิต


นอกจากหน้าร้อนจะเป็นฤดูที่พบโรคติดต่อมากที่สุดฤดูหนึ่งแล้ว ที่อันตรายไม่แพ้กันหรือหน้าฝนที่บ้านเรามีอากาศทั้งร้อนทั้งแฉะ มีลักษณะที่เหมาะแก่การแพร่พันธุ์ของเชื้อโรคหลายชนิด และที่สำคัญยังมีโรคติดต่ออีกชนิดหนึ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่ค่อยคุ้นหู ติดต่อกันง่ายกว่าที่ติด และมีอันตรายถึงชีวิตได้ นั่นคือโรค “เมลิออยด์”

โรคเมลิออยด์ คืออะไร?

โรคเมลิออยด์ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Melioidosis (เมลิออยโดสิส) เป็นโรคติดต่อจากแบคทีเรียที่อันตรายเพราะไม่มีอาการที่เพาะเจาะจง ยากต่อการวินิจฉัย (ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเดินทางไปพบแพทย์ด้วยอาการมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว) ไม่มีชุดตรวจคัดกรองใดๆ ที่มี่ความแม่นยำในการวินิจฉัยเบื้องต้น และยากต่อการรักษา จึงมีอัตราการเสียชีวิตสูง

สาเหตุของโรคเมลิออยด์

เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei (เชื้อเมลิออยด์) พบได้ทั่วไปในดิน และน้ำในแหล่งระบาด สามารถพบได้ในดิน และแหล่งน้ำทุกภูมิภาคในประเทศไทย โดยพบได้บ่อยที่สุดในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน
นอกจากการสัมผัสดิน และน้ำจากแหล่งที่ระบาดโดยตรงแล้ว เชื้อเมลิออยด์ยังสามารถแพร่กระจายสู่คนผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือโดยการติดต่อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ ได้อีกด้วย และยังพบว่ามีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน

การติดต่อของโรคเมลิออยด์

มนุษย์สามารถติดเชื้อแบคทีเรียเมลิออยด์จากการสัมผัสกับแหล่งดิน แหล่งน้ำทีมีเชื้อแบคทีเรียเมลิออยด์ ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล หรือมีรอยขีดข่วนใดๆ เชื้อแบคทีเรียก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัส หรือแช่อยู่ในแหล่งดินแหล่งน้ำที่มีเชื้อเมลิออยด์อยู่เป็นเวลานาน และการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ เป็นต้น แต่สำหรับผู้ที่มีบาดแผล แล้วไปสัมผัสดิน สัมผัสน้ำที่มีเชื้อโรค ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น

ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเมลิออยด์

- ผู้ที่ต้องทำงานอยู่ในแหล่งดินแหล่งน้ำที่มีเชื้อเมลิออยด์อยู่เป็นเวลานาน โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ชาวนา ชาวประมง เกษตรกรที่มือและเท้าแช่อยู่ในน้ำในดินเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคทาลัสซีเมีย และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กำลังเข้ารับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
- ดื่มสุรา สูบบุหรี่
- ผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน

อาการของโรคเมลิออยด์

  1. มีไข้สูง (จากการติดเชื้อในกระแสเลือด)
  2. ปอดติดเชื้อเฉียบพลัน โดยมีไข้ ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก
  3. ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น มีไข้ ปัสสาวะแสบขัด
  4. ติดเชื้อในข้อ เช่น มีไข้ ข้อบวมแดง และร้อน
  5. พบฝีในตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลือง ผิวหนัง หรือตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ฝีในสมอง ฝีในตา ฝีในช่องคอ ฝีในปอด ฝีในไต ฝีในต่อมน้ำลาย หรือฝีในต่อมลูกหมาก เป็นต้น

การรักษาโรคเมลิออยด์

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเมลิออยด์มักมีอัตราการเสียชีวิตสูงจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากผู้ป่วยรีบมาหาแพทย์ได้ทันท่วงที แพทย์จะพิจารณาใช้ยาต้านจุลชีพ เช่น ยา ceftazidime imipenem หรือ meropenem เพื่อทำการรักษาในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังต้องควบคุมการติดเชื้อ เช่น การเจาะระบายหนอง การล้างข้อที่ติดเชื้อ และการผ่าตัดเพื่อเอาก้อนหนองออก เมื่อไม่สามารถเจาะดูดได้ และผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นจากการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

การป้องกันโรคเมลิออยด์

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสดิน และน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือน้ำ เช่น ทำการเกษตรจับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือ ชุดลุยน้ำก่อนให้เรียบร้อย
  2. หากสัมผัสดินหรือน้ำ ควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ทันที
  3. หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำแผลด้วยยาฆ่าเชื้อไม่ใส่ดินหรือสมุนไพรใดๆ ลงบนแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและ น้ำจนกว่าแผลจะหายสนิท
  4. สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกจากบ้าน ไม่เดินเท้าเปล่า
  5. ดื่มน้ำต้มสุก (เนื่องจาก น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำบาดาล และน้ำประปาอาจมีเชื้อปนเปื้อนได้ และการกรองด้วยเครื่องที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องไม่สามารถฆ่าเชื้อเมลิออยด์ได้)
  6. ทานอาหารสุกสะอาด (ไม่ทานอาหารที่มีการปนเปื้อนจากดิน ฝุ่นดิน หรืออาหารที่ล้างด้วยน้ำที่ไม่สะอาด)
  7. หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น ลุยน้ำลุยโคลนโดยไม่มีเครื่องป้องกัน และการอยู่ท่ามกลางสายฝนเป็นเวลานาน ถ้ามีความจำเป็นควรรีบทำความสะอาดร่างกายหลังสัมผัสดิน และน้ำโดยเร็วที่สุด
  8. เลิกเหล้า เลิกบุหรี่
  9. ห้ามทานยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ยาลูกกลอน
  10. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงกับการเป็นโรคเมลิออยด์สูงขึ้น จึงควรดูแลสุขภาพให้ดีเช่น ผู้ป่วยเบาหวานควรดูแลระดับน้ำตาลให้ปกติ (ระดับน้ าตาลเท่ากับ 80-100) เป็นต้น
  11. ดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้มีความสะอาด และสุขภาพดีอยู่เสมอ ไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงลุยน้ำลุยโคลนนอกบ้านแล้วไม่ทำความสะอาดร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ รวมถึงเกษตรกรที่ทำงานกับหมู ม้า วัว ควาย แกะ แพะ ด้วย หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด แนะนำให้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างรองเท้า ถุงมือ ผ้าปิดปาก ก่อนเข้าใกล้ และทำความสะอาดตัวเองหลังสัมผัสสัตว์เหล่านี้ทุกครั้ง
ที่มา:sanook