วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เม็ดฝรั่ง กินแล้วเสี่ยงไส้ติ่งอักเสบจริงหรือไม่?


“ไส้ติ่งอักเสบ” เป็นอาการที่ไม่มีใครอยากเป็น และหลายคนทราบกันดีว่าเกิดจากอาการอักเสบของไส้ติ่ง ซึ่งเป็นอวัยวะส่วนเล็กๆ ติดกับลำไส้ วันดีคืนดีมีอาการอักเสบขึ้นมา เราก็ปวดท้องจนเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลกันอย่างด่วน และคนที่มีความเสี่ยงต่อไส้ติ่งอักเสบก็มีอายุตั้งแต่ 15-45 ปีเลยด้วยซ้ำ ถือว่าเป็นช่วงอายุที่ยาวพอสมควร
ก่อนจะมาดูว่าเม็ดฝรั่งเป็นตัวการของไส้ติ่งอักเสบหรือไม่ เรามาดูที่สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบกันก่อนดีกว่า

สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งอักเสบ เกิดจากอาการอักเสบที่เกิดขึ้นจากเศษอาหารหลุดเข้าไปหมักหมมอยู่ในไส้ติ่งเป็นเวลานานจนของเหลวหรือสารคัดหลั่งไม่สามารถไหลเวียนเข้าไปได้ตามปกติ จึงเกิดอาการอักเสบ โดยสิ่งที่หลุดลงไปในไส้ติ่งจะเป็นอะไรก็ได้ที่ลำเลียงอยู่ในลำไส้ เช่น เศษอาหาร พยาธิ เนื้องอก หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นมีอาการบวมจนทำให้ไส้ติ่งอุดตัน อักเสบ หรือติดเชื้อ

เม็ดฝรั่ง สาเหตุของไส้ติ่งอักเสบ?
เมื่อทราบแล้วว่าอะไรก็ตามที่เข้าไปอุดตันไส้ติ่งจนทำให้อักเสบ ก็เป็นสาเหตุได้ทั้งนั้น ดังนั้นก็ไม่ได้มีเพียงแค่เม็ดฝรั่งเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อการอุดตันของไส้ติ่ง ไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ลักษณะของเม็ดฝรั่งมีขนาดและความแข็งพอดีกับการอุดตันของไส้ติ่งเล็กๆ ได้นั่นเอง
อาการของไส้ติ่งอักเสบ
อย่างที่หลายคนทราบกันว่าอาการของไส้ติ่งอักเสบมักมากับอาการปวดท้อง อาจจะไม่ได้ปวดท้องที่ตำแหน่งขวาล่างตั้งแต่แรก อาจจะปวดท้องรอบสะดือก่อน จากนั้น 6-12 ชั่วโมงต่อมาอาจจะเลื่อนมาปวดท้องบริเวณขวาล่าง แต่มีบ้างเช่นกันที่จะปวดบริเวณกลางท้อง หรือท้องส่วนขวาบน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของไส้ติ่งของแต่ละคนว่าอยู่ตรงไหน ยิ่งใครที่ปวดท้องรุนแรงมากทั้งด้านซ้ายขวา อาจมีความเป็นไปได้ว่าไส้ติ่งอาจจะอักเสบรุนแรนจนถึงขั้นเน่า เป็นฝี หรือแตกกระจายทั่วท้องจนเริ่มติดเชื้อ
แต่ก่อนจะปวดท้องจนต้องเข้ารับการผ่าตัดแบบปัจจุบันทันด่วน อาจมีสัญญาณเตือนเบาๆ ที่หลายคนอาจไม่ทราบ เช่น เบื่ออาหาร ทานข้าวไม่ลง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และมีไข้ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าเกี่ยวกับอาการผิดปกติของไส้ติ่ง เลยทำให้ละเลยที่จะเข้าไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล

เพราะฉะนั้น หากใครไม่อยากเสี่ยงต่อไส้ติ่งอักเสบ นอกจากจะต้องทานอาหารโดยเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงการทานอาหารแข็งๆ ที่ยากต่อการย่อยของกระเพาะอาหารแล้ว การตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจช่องท้อง และคอยสังเกตอาการ ความผิดปกติของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไม่ละเลยที่จะใส่ใจดูแลตัวเอง ก็ช่วยลดความเสี่ยงไส้ติ่งอักเสบได้เช่นกันค่ะ
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี เสี่ยง “นิ่วในถุงน้ำดี”


หลายคนที่รู้จัก เริ่มเรียงคิวกันเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกไปจากถุงน้ำดี บางรายถึงขั้นต้องตัดถุงน้ำดีออก เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ค่าผ่าตัดก็ไม่ใช่ย่อย ผ่าหน้าท้องก็ไม่แพง ใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่ถ้าผ่าตัดแบบส่องกล้อง ก็ต้องออกค่ารักษาเองหลายหมื่นเลยทีเดียว
หากใครไม่อยากจะไปเรียงคิวผ่าตัดกับเขาด้วย แถมยังเสียเงินโดยใช่เหตุไปอีกหลายหมื่น เรามาปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีกันดีกว่าค่ะ

ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี

- พันธุกรรม หากพบสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน คุณก็อาจจะมีความเสี่ยงไปด้วย
- เป็นโรคอ้วน หรืออยู่ในภาวะอ้วน เพราะคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน อาจมีปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากกว่าปกติ
- ผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด หรือให้ฮอร์โมนทดแทน อาจส่งผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี และลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดีได้
- อาการข้างเคียงจากโรคเบาหวาน
- ทานอาหารที่มีไขมันสูง กากใยอาหารต่ำ หรือการทานเนื้อติดมันมาก และไม่ทานผักผลไม้นั่นเอง
ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี

ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี?

การลดน้ำหนักที่ไม่ถูกวิธีที่เราอาจพบได้บ่อยๆ คือการที่เราทำให้ร่างกายลดน้ำหนักลงอย่างฮวบฮาบรวดเร็วมากเกินไป ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น ถุงน้ำดีก็จะบีบตัวน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการตกตะกอนจนกลายเป็นนิ่วก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน


อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

- ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีถุงน้ำดี คือช่วงท้องส่วนบน หรือด้านขวา อาจจะปวดราว 15 นาที หรือปวดนานหลายชั่วโมงได้ อาจจะมีอาการปวดร้าวไปถึงกระดูกสะบัก หรือไหล่ขวาได้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร และมีอาการเสียดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังทานอาหารมันๆ
- หากเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน อาจมีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา อาจจะตัวเหลือง และปัสสาวะสีเข้มได้เช่นกัน

วิธีป้องกันอาการนิ่วในถุงน้ำดี

  1. ไม่ทานอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อปิ้งย่าง ขาหมู หมูสามชั้น เบคอน ทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดมาตรฐาน
  3. ตรวจสุขภาพ วัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่าให้เกิดมาตรฐานเช่นกัน
  4. อย่าลดน้ำหนักอย่างหักโหม ค่อยๆ ลด เดือนละ 3-4 กิโลกรัมต่อเดือนก็พอ

ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่พักน้ำดีที่ปล่อยออกมาจากตับ เพื่อช่วยในการย่อยอาหารจำพวกไขมันเท่านั้น ดังนั้นหากผู้ป่วยบางรายที่ถูกตัดถุงน้ำดีออกไป จะยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารประเภทไขมันอาจจะน้อยลงเล็กน้อย เพราะความเข้มข้นของน้ำดีไม่เท่าเดิม
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

แพทย์เตือน! ภูมิคุ้มกันผิดปกติ เสี่ยง "โรคไขสันหลักอักเสบ"


สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  เตือนโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นโรคที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทในไขสันหลัง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเข้าทำลายไขสันหลัง หรืออาจเกิดภายหลังการติดเชื้อ

โรคไขสันหลังอักเสบ คืออะไร?

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไขสันหลังอักเสบ คือโรคที่มีอาการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นประสาทในไขสันหลัง สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัส หรือเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเข้าทำลายไขสันหลัง หรืออาจเกิดภายหลังการติดเชื้อ อาทิ โรคติดเชื้อไวรัส โรคทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอส แอล อี โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง การได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด โรคคางทูม

อาการของโรคไขสันหลังอักเสบ

โรคไขสันหลังอักเสบส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการแสดงของโรคดังกล่าว จะเป็นดังต่อไปนี้
  • แขนขา อ่อนแรง ชา
  • มีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ
  • บางรายจะมีอาการแสบร้อน หรือมีอาการคล้ายมีอะไรมารัดตามตัว
  • มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายเป็นตะคริว


การวินิจฉัยโรคเพื่อหาสาเหตุของไขสันหลังอักเสบ

  1. การส่งตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูตำแหน่งรอยโรค และเพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายคลึงกัน เช่น การมีก้อนมากดทับไขสันหลัง
  2. การตรวจน้ำไขสันหลังเพื่อดูการอักเสบ และส่งตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไขสันหลังอักเสบ
  3. การตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ซึ่งจะบอกสาเหตุที่แน่ชัดและช่วยวางแผนการรักษาในระยะยาว

การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบ

การรักษาถ้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติในระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา สำหรับการรักษาในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการกำเริบของโรคจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง   ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 – 5 ปี   ส่วนในกรณีที่เป็นโรคไขสันหลังอักเสบแต่ไม่พบการกำเริบของโรค ผู้ป่วยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันเพียงระยะสั้น 6 เดือน เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันมีผลข้างเคียง เช่น การติดเชื้อ เบาหวาน ไขมันสูง กระดูกพรุน เป็นต้น

การป้องกันโรคไขสันหลังอักเสบ

การป้องกันภาวะปลอกหุ้มเส้นประสาทไขสันหลังอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้น ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง อาจป้องกันโดยการรักษาสุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส โดยผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเองที่ดีเมื่อเป็นโรคไขสันหลังอักเสบ คือ ออกกำลังกายสม่ำเสมอทำกายภาพบำบัด ฝึกการขับถ่ายตามแพทย์แนะนำ ดูแลอย่าให้ท้องผูก ป้องกันการติดเชื้อ ในระบบทางเดินปัสสาวะ ทานยาให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา และควรไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการแขนขาอ่อนแรงมากขึ้น
นายแพทย์เมธา อภิวัฒนากุล นายแพทย์เชี่ยวชาญ  ด้านเวชกรรม สาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยของการเกิดโรคเกิดจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง อาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรค ร่วมกับปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น เช่น การติดเชื้อไวรัส
ที่มา:sanook

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ไขข้อข้องใจ กินอะไร? ทำไมถึงเป็น "โรคเกาต์"


 กินอะไร ? ทำไมถึงเป็นโรคเกาต์ เห็นชอบบอกกันอยู่บ่อยๆ ว่าอย่ากินไก่เยอะสิ กินเยอะเดี๋ยวเป็นเกาต์นะ ไอเราก็ งง .. อยู่ดีๆ จะให้เลิกกินของอร่อย หรือกินไก่ทอด ไก่ย่าง ให้น้อยลงก็คงจะเป็นเรื่องที่ทรมานจิตใจอยู่ไม่น้อย วันนี้มีเวลาเหมาะๆ พอดี เลยถือโอกาสไปหาเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคเกาต์มาฝาก จะได้หายข้องใจกันไปเลยว่ากินไก่ต่อได้ หรือกินต่อไม่ได้

โรคเกาต์ คืออะไร ?

โรคเกาต์ ก็เป็นโรคข้ออักเสบประเภทหนึ่ง พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนของกรดยูริคภายในข้อ โดยกรดยูริคนี้ก็มาจากสารพิวรีนที่มีอยู่มากในอาหารจำพวกเครื่องในสัตว์และถั่วเมล็ดแห้ง เตือนไว้ก่อนว่าใครที่เป็นโรคเกาต์เข้านะ จะต้องได้รับการดูรักษาไปต่อเนื่องตลอดชีวิตเลย (จริง 1000%) เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้ข้อต่างๆ ตามร่างกายของเราผิดรูป จนทำให้พิการได้ น่ากลัวมากจริงๆ

อาการแบบไหนถึงจะทำให้รู้ว่าเป็น โรคเกาต์ เข้าแล้ว ?

วิธีสังเกตก็ดูไม่ยาก ดูตามที่เราสรุปมาเป็นข้อๆ ได้เลย
  1. มีอาการปวดตามข้อ ข้อบวม ผิวบริเวณข้อแดง กดลงไปรู้สึกเจ็บ ซึ่งอาการปวดเกิดขึ้นได้กับข้อหลายตำแหน่ง อย่างที่มีการพบบ่อยๆ ได้แก่ ข้อนิ้วโป้งเท้า , ข้อเท้า และข้อเข่า โดยอาการปวดจะเกิดขึ้นแบบฉับพลัน รวมถึงมีอาการไข้ขึ้นเล็กน้อยไปจนถึงไข้สูง
  2. เมื่อมีอาการปวดกำเริบขึ้นแต่ละครั้งก็จะกินเวลาไปประมาณ 3 - 7 วัน
  3. ถ้ารู้ตัวว่าเป็น โรคเกาต์ แต่ไม่รีบไปรักษา ปล่อยให้มีอาการแบบที่กล่าวมาอยู่เรื่อยๆ ต่อเนื่อง ก็เสี่ยงที่จะทำให้การอักเสบเกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้ข้อบิดเบี้ยว เดินลำบาก ไปจนถึงพิการได้
  4. นอกจากนั้นก็ยังมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น อาจพบนิ่วในไต หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

สิ่งที่ไปกระตุ้นให้ โรคเกาต์ เกิดการเจริญเติบโต

ถ้าจะว่ากันง่ายๆ ก็คือสิ่งที่เรารับเข้าสู่ร่างกายแล้วเข้าไปเสริมให้มีโอกาสที่จะเป็น โรคเกาต์ เพิ่มขึ้น หรือถ้าหากเป็นอยู่แล้วก็จะยิ่งเสริมให้อาการที่มีรุนแรงมากขึ้นไปอีก ดังนี้
  • การกินอาหารที่มีสารพิวรีนประกอบอยู่มาก เช่น สัตว์ปีก, เครื่องในสัตว์
  • การดื่มเหล้าและเบียร์
  • ยาบางชนิด อาทิ ยาลดความดันโลหิตบางชนิด, ยาที่เพิ่มให้เลือดมีกรดยูริคสูง
  • ปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น การบาดเจ็บ, ช่วงเวลาหลังผ่าตัดใหม่ หรือแม้แต่ความเครียดก็มีส่วนที่ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้เหมือนกันนะ
 knee-hurt-2

‘ปวดเกาต์’ เกิดขึ้นตอนไหนได้บ้าง ?

ตอนนี้เรายังไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าอาการปวดเกาต์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เนื่องจากแต่ละคนก็มีปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดได้แตกต่างกัน แต่โดยส่วนใหญ่เวลาที่บอกต่อไปนี้ผู้ป่วยมักจะเกิดอาการปวดขึ้นได้คล้ายๆ กัน
  • ช่วงเวลาที่เกิดความเครียดสูง มีแรงกดดันสูง
  • ช่วงเวลาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ช่วงเวลาที่กินเลี้ยงในงานสังสรรค์ กินอาหารมากจนเกิดเป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีกรดยูริคสูง
  • ช่วงเวลาที่ร่างกายไม่แข็งแรง หรือป่วย
  • ช่วงเวลาที่อากาศเย็น หนาว ฝนตก หรืออากาศมีความแปรปรวน

ระดับความรุนแรงของ ‘โรคเกาต์’

  1. Asymptomatic Hyperuricemia : ระยะนี้จะยังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น ถึงแม้ว่าจะมีกรดยูริคสะสมอยู่ในเลือดสูง แต่ยังไม่ทำให้เกิดอาการปวดใดๆ
  2. Acute Gouty Arthritis : ระยะนี้ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดตามข้อขึ้นมาอย่างกะทันหัน
  3. Intercritical Gout (พัก) : ระยะนี้อาการปวดของผู้ป่วยจะหยุด หรือเริ่มหายปวดลงจากช่วงแรก เป็นระยะที่เว้นก่อนเริ่มอาการปวดในครั้งต่อไป โดยในระยะนี้แนะนำให้ผู้ป่วยรีบหาวิธีรักษาแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนจะกลับมามีอาการปวดอีก
  4. Recurrent Gout Arthritis : ระยะนี้ผู้ป่วยจะกลับมามีอาการปวดอีกครั้ง
Chronic Tophaceous Gout : ระยะนี้อาการปวดที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนถึงระดับเรื้อรังและปวดอย่างต่อเนื่อง ขยายบริเวณที่ปวดมากขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

การตรวจวินิจฉัย

หากว่ามีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีบางอาการที่ส่อว่าเรากำลังเข้าสู่การเป็นผู้ป่วยโรคเกาต์ ก็ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยน่าจะดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาคิดไปกันเอง โดยแพทย์ก็จะมีการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีดังต่อไปนี้
  • การเจาะน้ำในข้อไปตรวจ ว่ากันว่าวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจยืนยันที่ดีที่สุด ไม่ใช่แค่การตรวจหาว่าเป็นโรคเกาต์หรือไม่ แต่ยังช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ เพิ่มเติมได้ด้วย
  • การเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับกรดยูริคว่ามีสูงกว่าปกติหรือไม่
  • การ X-Ray บริเวณข้อที่มีอาการปวด โดยจะดูความผิดปกติได้จากภาพในรังสี

การรักษาโรคเกาต์

เมื่อเดินทางไปตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาแล้ว พบว่าตัวเองนั้นเป็น โรคเกาต์ จริงๆ แพทย์ก็จะให้ยามา พร้อมกับคำแนะนำเพื่อบรรเทาอาการ โดยที่เราก็ต้องปฏิบัติตามสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ขณะที่โรคกำเริบ ควรกินยาตามแพทย์สั่ง
  • ทำการประคบเย็น
  • ควรลดการใช้ข้อ หลีกเลี่ยงการลงน้ำหลักที่ข้อที่เกิดการอักเสบ
  • กินน้ำให้เพียงพอ

ป้องกัน โรคเกาต์ เอาไว้ตั้งแต่ต้นต้องทำยังไง?

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดังต่อไปนี้ หัวใจไก่, ตับไก่, กึ๋นไก่, เซ่งจี้หมู, ตับหมู, ไต, ตับอ่อน, มันสมองวัว, เนื้อไก่, เนื้อเป็ด, ห่าน, ไข่ปลา, ปลาดุก, ปลาไส้ตัน, ปลาอินทรีย์, ปลาซาร์ดีน, กุ้งชีแฮ้, หอย, น้ำสกัดเนื้อ, น้ำต้มกระดูก, น้ำซุปต่างๆ, ซุปก้อน, ยีสต์, เห็ด, ถั่วดำ, ถั่วแดง, ถั่วเขียว, ถั่วเหลือง, กระถิน, ชะอม, กะปิ เป็นต้น
  • ดื่มน้ำมากๆ
  • กินยาตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งในผู้ป่วยบางรายอาจต้องกินยาตลอดชีวิต
ที่มา:sanook

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

"คันทวารหนัก" จากเรื่องเล็กๆ สู่สัญญาณอันตรายของโรคร้าย


เคยไหมคะ? รู้สึกคันยุบยิบๆ ที่รูทวารหนัก คันจนรู้สึกอยากเอานิ้วไปเกา แต่ถ้านั่งอยู่นอกบ้านก็ได้แต่นั่งบิดตัวไปมา จะเล่าให้ใครฟังก็อาย แถมยังมีอาการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย
จริงๆ แล้วเราอยากแนะนำให้ไปหาหมอ แต่ถ้าอยากสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองก่อน ก็มาดูกันว่าที่คันๆ อยู่เนี่ย เป็นเพราะอะไร

คันทวารหนัก เกิดจากสาเหตุอะไร?
อาการคันทวารหนักยุบยิบๆ อาจเป็นสัญญาณอาการเริ่มแรกของอาการผิดปกติอื่นๆ ในร่างกายได้

- ทวารหนักอับชื้น เช็ดไม่แห้งก่อนสวมกางเกงใน/กางเกง หรืออาจจะเพราะมีน้ำหนักตัวมาก อ้วนมากจนเกิดความอับชื้นตลอดเวลา
- เป็นโรคผิวหนัง ภูมิแพ้ เชื้อรา ติดเชื้อไวรัส เป็นหูด ฝี หรือมีแผล
- เช็ดก้นไม่สะอาด หลังถ่ายอุจจาระ
- อยู่ในภาวะอุจจาระไหลซึม สำหรับใครที่มีอาการหูรูดทวารหนักเสื่อม หรือเป็นโรคอื่นๆ เช่น ท้องผูก/ท้องเสียเรื้อรัง หรือมีเนื้องอก
- ระคายเคืองจากอาหารบางชนิดที่ทานเข้าไป เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ นม (สำหรับคนที่แพ้) มะเขือเทศ อาหารรจัด
- ติดเชื้อจากโรคทางเพศสัมพันธ์ กรณีที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาเคมีบำบัดบางตัว
- โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น เบาหวาน ดีซ่าน ไทรอยด์ โรคไต
- ผิวหนังรอบทวารหนักเกิดอาการระคายเคืองจากสิ่งที่เราใช้ เช่น กางเกงใน ผ้าอนามัย แป้ง ทิชชู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ หรือยาเหน็บ
- อาจเป็นอาการข้างเคียงของโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว
แต่นอกจากนี้แพทย์อาจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนเหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร
 bum-2
ลดอาการคันทวารหนักได้อย่างไร?
หากเราทราบสาเหตุที่แน่ชัดได้แล้ว ก็ให้เลิกพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น รักษาความสะอาดให้มากขึ้น ใช้ทิชชู่ซับก้นให้แห้งก่อนสวมกางเกงใน เลือกเนื้อผ้าชั้นในให้มีการระบายอากาศได้ดี เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดทวารหนัก ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้ในการซักชั้นใน และกางเกง กระโปรง หากพบความผิดปกติอื่นๆ เช่น มีอุจจาระซึม มีแผล นอกจากจะคันแล้วยังมีอาการเจ็บ หรือแสบ และอื่นๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้องค่ะ
ที่มา:sanook